หลักการชกมวยไทย

การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย)และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ พร้อมที่จะตั้งรับและโจมตีตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์ อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน(แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล(วงนอก)และระยะประชิด(วงใน)และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้ แม่ไม้มวยไทยที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ จระเข้ฟาดหาง(หมุนตัวแล้วฟาดตวัดด้วยวงเท้าหลัง), เถรกวาดลาน(เตะกวาดล่างวงนอกรวบสองเท้าให้เสียหลัก) ,หนุมาณถวายแหวน(ชกหมัดเสยพร้อมกันสองข้าง),มอญยันหลัก(ถีบลำตัวให้เสียหลัก),หักงวงไอยรา(เหยียบคู่ต่อสู้เพื่อยกตัวเตะตวัดก้านคอ),บั่นเศียรทศกัณฑ์ (เตะก้านคอ),ปักลูกทอย(ปักศอกลงตรงหน้าขาคูต่อสู้), มณโฑนั่งแทน(กระโดดขึ้นปักศอกลงกลางกระหม่อม), หิรัญม้วนแผ่นดิน (ศอกกลับ) ,พระรามเดินดง (เตะแล้วต่อยตามข้างเดียวกัน),มอญแทงกริช (ถองด้วยศอกบริเวณซี่โครงอ่อน)ฯลฯ ลูกไม้ มีทั้งลูกผสมและลูกแยก เพื่อใช้หลอกล่อและเผด็จศึก เช่น แตะตรงเตะ แตะถีบเตะ แตะตรงถีบเตะ,ลูกเตะสลับ เตะช้อน เตะตวัด เตะสูง เตะสวาบ เตะพับนอกพับใน เตะคา เตะเขี่ยล่าง,ลูกถีบหน้า ถีบหลัง ถีบจิก,ลูกศอกตี ตัด งัด พุ่ง กระทุ้ง กลับ,ลูกเข่าน้อย เข่าลา เข่าโค้ง เข่าตี เข่ากระทุ้ง เข่าลอย เข่าแหลม เข่าคา,ลูกหมัดหน้า หมัดหลัง หมัดลัก หมัดอ้อม หมัดเกี่ยว หมัดสอย หมัดเสย หมัดซ้ำ หมัดหนึ่งสอง หมัดชุดสามเหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีการใช้ส่วนที่ไม่เป็นอาวุธในกาป้องกัน/สร้างจังหวะในการตอบโต้ เช่น การใช้ฝ่ามือในการบัง ปิด ปัด ดึง ดัน ผลัก โหน ค้ำ ขวาง กด ใช้เท้าในการเต้น กระโดด ใช้หัวไหล่หรือลำตัวในการหลอกล่อ ฯลฯ