การศึกษาศิลปะมวยไทย

ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน/ประลอง) แตกต่างกันโดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัติย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย)และจะมีการแข่งขันต่อสู้/ประลองกันในงานวัดและงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล/เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ(ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย

กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำที่วังสวนกุหลาบทั้งการต่อสูประลองระหว่างนักมวย/ครูมวยชาวไทยด้วยกันและการต่อสู้ระหว่างนักมวย/ครูมวยต่างชาติ ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขันมวยไทยมาจนปัจจุบัน